ประวัติ

ประวัติโดยสังเขป

พระอาจารย์เฉลิม ธมฺมธโร

เจ้าอาวาสวัดป่าภูแปกญาณสัมปันโน บ้านกกบก  ตำบลหนองงิ้ว  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย

พระอาจารย์เฉลิม ธมฺมธโร

ชาติภูมิ ที่บ้านบก ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายจันทรดี สีงาม มารดาชื่อ นางดา สีงาม มีญาติพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน ดังนี้

นางบุญ สายแวว

นายสุบิน สีงาม

นายสุริน สีงาม

นายผิน สีงาม

ด.ช.ทองอินทร์ สีงาม (มาเปลี่ยนเป็นเฉลิม ตอนที่แจ้งเข้าโรงเรียน โดยคุณครูระวิ พวงทอง)

นางหนูจี

อาชีพประกอบเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน อยู่แบบพอเพียงตามอัตภาพของคนชนบท การศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่๔ (เพราะในสมัยนั้นการศึกษายังไม่ขยายถึงประถมศึกษาที่๖) โดยนิสัยตั้งแต่กำเนิดเป็นเด็กที่มีนิสัยจริงจังมาตลอด มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกๆคน และไม่ชอบเห็นคนอื่นถูกเอารัดเอาเปรียบ ชอบความเป็นธรรม เป็นนิสัยมาตั้งแต่เด็กๆ คุณลักษณะพิเศษชอบคลุกคลีอยู่กับวัด ชอบอยู่กับพระ เณร มาตั้งแต่เด็ก เมื่อเรียนจบตามหลักสูตรแล้ว มีความตั้งใจอยากจะบวชเณร แต่ถูกคุณยายขอร้องไว้ว่าอย่าเพิ่งบวช รอไว้บวชตอนเป็นพระเลยทีเดียว จนอายุได้ ๑๘ ปี คุณยายก็มาขอร้องว่าให้บวชให้ จึงได้รับปากคุณยายไว้ ว่าจะบวชให้จนถึงอายุ๒๑ปีเต็มบริบูรณ์ เกณฑ์ทหารเสร็จ ก็ตัดสินใจบวช เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร ตามประเพณีของชายไทย และอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ที่บ้านเกิด เริ่มแรกตั้งใจไว้ว่าจะบวชเพียง๓๐วัน คือเดือนเดียว ก็คงจะเป็นพรหมลิขิตหักเหเปลี่ยนทางของชีวิต พอบวชเสร็จแล้วอยู่ที่วัดบ้านเกิด ๒๐ วัน เกิดมีอาการร้อนรุ่มจนบอกไม่ถูก จึงให้บิดาพาเดินทางจากบ้านเกิดขึ้นไปที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านนาเหมือง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มีหลวงพ่อพระครูศรีภูมิมาณุรักณ์ เป็นเจ้าอาวาส และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเวลาต่อมา เพราะได้ญัตติใหม่ เป็น ธรรมยุติ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ ปีเดียวกัน

การจำพรรษา

 

พรรษาที่ ๑ วัดป่าสามัคคีธรรม

พรรษาที่ ๒ วัดเขาจันทร์ตรี บ้านหนองกะจะ ปากช่อง

พรรษาที่ ๓ วัดเขาจันทร์ตรี

พรรษาที่ ๔ วัดเวฬุวัน ทองผาภูมิ

พรรษาที่ ๕-๙ วัดป่าบ้านตาด

สำหรับวัดป่าบ้านตาด ได้รับการอนุเคราะห์จากท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุธโธ ท่านได้พาขึ้นไปส่งถึงที่อุดร และอยู่ได้มายาวนาน วันที่เริ่มเข้าไปอยู่วัดป่าบ้านตาดเป็นวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ วันที่ออกจากบ้านตาก เป็นวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๙

พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน

พรรษาที่ ๑๑ วัดป่าสามัคคีธรรม วัดเดิม เพราะต้องกลับไปจังหวัดสกลนคร จัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงถวายพระอุปัชฌาย์

พรรษาที่ ๑๒ วัดถ้ำพระนาใน ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่๑๓-๑๗ วัดป่าภูแปก บ้านกกบก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พรรษาที่ ๑๘-๒๓ วัดป่าสามแยก บ้านสามแยก ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

พรรษาที่ ๒๔-๓๖ วัดป่าภูแปกญาณสัมปันโน จนถึงปัจจุบัน

ประวัติการสร้างวัดป่าภูแปกญาณสัมปันโน

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒  ชาวบ้านกกบก ได้นิมนต์ให้ไปจำพรรษา ด้วยใจก็อยากจะเปลี่ยนสถานที่อยู่พอดี ก็เลยตกลงรับนิมนต์ของคณะญาติโยม เดินทางเข้าไปวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘    วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ไปเลือกสถานที่พอได้ที่ถูกใจ ชาวบ้านก็ช่วยกันทำกุฏิเล็กๆให้สองหลัง เพราะไปด้วยกัน ๒ องค์ เย็นก็กลับลงไปนอนที่วัดในหมู่บ้าน พาชาวบ้านทำวัตร สวดมนต์ต่อ เพราะเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ พอเช้าเสร็จภารกิจเรียบร้อยชาวบ้านก็ขนของให้ต่างๆขึ้นไปพร้อม และชาวบ้านก็ช่วยกันทำศาลาเล็กๆถวายอีก ๑ หลัง ในที่สุดชาวบ้านก็ยกสถานที่ตรงที่อยู่ปัจจุบันนี้ถวายให้สร้างเป็นวัด จำนวนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ สิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัย เสนาสนะ ก็เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านเป็นหลัก เพราะในสมัยนั้นยังถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่กันดารมากพอสมควร ตอนหลังๆมา หมู่บ้านก็ขยายใหญ่ขึ้น ประชากรก็มีมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังมีคณะญาติโยม ทางภายนอกเข้าไปสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ศาลาหลังเก่าที่เคยใช้

พอดีๆ ในยุคแรกๆ ก็นับวันจะแออัดคับแคบลงไปเรื่อยๆ ก็ตั้งใจว่า จะก่อสร้างมาหลายปีแล้ว  แต่ช่วงนั้นเป็นยุคฟองสบู่แตก องค์หลวงตาก็พาออกมารณรงค์เป็นโครงการผ้าป่าช่วยชาติ จึงต้องออกไปช่วยท่าน งานทุกอย่างในวัดจึงงดไว้ก่อน เงินที่ได้มาก็เอาออกมาร่วมช่วยชาติ ร่วมกับองค์หลวงตาเรื่อยมา  จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จึงตัดสินใจลงมือสร้างศาลาวางศิลาฤกษ์ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ เบื้องต้นมีเงินอยู่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็ได้รับความร่วมมือจากครูบาอาจารย์ และคณะศรัทธาญาติโยม สนับสนุนเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันนี้ ความตั้งใจในสิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบัน คือเพื่อให้เป็นศาลา เพื่อประกอบกิจกรรมสำหรับไว้เวลาบวชลูกหลาน จะได้เป็นวัดที่สมบูรณ์ คือเป็นวัดและมีวิสุงคามสีมา และเขตวิสุงคามสีมา ก็ได้รับพระราชทานจากในหลวง มอบเป็นสมบัติของสงฆ์

ภาพศาลาวัดในปัจจุบัน

สำหรับการสร้างศาลาและพระอุโบสถทั้งสองอย่างรวมอยู่ในหลังเดียวกันนี้ ทำเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นศาลา ชั้นบนใช้เป็นพระอุโบสถ จึงเป็นเหตุทำให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัว แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับงานกระจกที่เป็นประตูและหน้าต่างนั้น ก็เป็นแบบที่แตกต่างจากวัดอื่นๆทั่วไปคือ ทำให้แข็งแรง และให้ช่างออกแบบเป็นภาพต่างๆลงไปในกระจก ด้วยความตั้งใจอยากจะให้ลูกหลานได้อาศัยเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ ทั้งภาพประกอบ และอยากให้อนุรักษ์ช่างฝีมือไทยของลูกหลานไทยเอาไว้ ถึงราคาประตูหน้าต่างต่อช่องต่อบานจะมีราคาแพงกว่าปกติก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่เช่นนั้น ต่อไปลูกหลานของเราก็จะไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร และในที่สุดช่างฝีมือของคนไทยบ้านเราก็จะหมดไป เพราะไม่มีใครส่งเสริมสนับสนุน ก็จะไม่มีใครอยากเรียนรู้สืบต่อไป ทั้งหมด ตามที่ได้กล่าวถึงมาจากเบื้องต้น จนถึงสุดท้ายนี้นั้นเป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตข้าพเจ้าจริงๆ และเป็นความตั้งใจจริง ที่จะสร้างทำฝากไว้ ให้เป็นสมบัติของพระศาสนาและเป็นสมบัติของลูกหลาน สมบัติของชาติสืบไป เพราะในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น ไม่มีอะไรที่แน่นอน จึงขอจารึกศิลปวัฒนธรรม คุณงามความดีเหล่านี้ มอบไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และสืบทอดต่อๆไปในภายภาคหน้าเพื่อประโยชน์ของสังคมในอนาคต